ผู้ชายหลายคนเมื่อถึงวัยหนึ่งก็มักจะพบว่า การปัสสาวะของเราเปลี่ยนไป ไม่ออกง่าย ไหลคล่องเหมือนตอนหนุ่ม นั่นอาจมาจากโรคต่อมลูกหมากโต ซึ่งมีวิธีรักษาได้หลายวิธี โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ในปัจจุบัน มีเทคโนโลยีในการรักษาใหม่ที่เข้ามาแก้ไขจุดบกพร่องของวิธีเดิม ยิ่งทำให้การรักษาต่อมลูกหมากโตปลอดภัยและสะดวกกับคนไข้มากขึ้น

โรคต่อมลูกหมากโต คืออะไร?

โรคต่อมลูกหมากโต หรือที่คุ้นกันในชื่อภาษาอังกฤษ คือ BPH ซึ่งย่อมาจาก Benign Prostatic Hyperplasia หรือบางครั้งอาจใช้คำว่า Benign prostate enlargement (ย่อเป็น BPE) ต่อมลูกหมากโตเป็นโรคที่พบได้บ่อยมากในผู้ชายมีอายุ สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ ต่อมลูกหมากมันโตมากเกินไปจนมาเบียดท่อปัสสาวะให้ตีบแคบลง 

ประเด็นสำคัญที่หลายท่านอาจกังวลใจ คือ แล้วเนื้อต่อมลูกหมากที่โตขึ้นนี้จะเป็นเนื้อร้ายรึเปล่า? คำที่น่าจะช่วยให้สบายใจได้บ้าง คือ คำว่า benign ที่อยู่ในชื่อนั้น แปลได้ตรง ๆ ว่า ไม่ใช่มะเร็ง ไม่ร้ายแรงต่อสุขภาพ นั่นคือ โรคต่อมลูกหมากโตนี้มันไม่ได้โตจากเนื้อร้าย 

มาถึงจุดนี้ หลายท่านอาจสงสัยว่าแล้วทำไมโรคนี้มีสองชื่อ? บางที่เรียก BPH บางที่ใช้ BPE จุดแตกต่างของสองชื่อนี้ อยู่ที่คำสุดท้าย คือ hyperplasia (แปลว่า เนื้อเยื่อเจริญเติบโตเกินกว่าปกติ) กับ enlargement (ใหญ่ขึ้น) นั่นคือ hyperplasia เป็นคำที่แสดงถึงลักษณะพยาธิสภาพของเนื้อเยื่อต่อมลูกหมากที่เจริญมากเกิน ซึ่งนำไปสู่ ขนาดของต่อมที่ใหญ่ขึ้น (enlargement) จนตรวจพบได้ในทางคลินิก

โรคต่อมลูกหมากโต มีอาการอย่างไร?

ต่อมลูกหมากอยู่ล้อมท่อปัสสาวะที่ต่อออกมาจากกระเพาะปัสสาวะ ตัวต่อมลูกหมากจึงเปรียบเหมือนเป็นโดนัทที่รูตรงกลางเป็นท่อปัสสาวะ 

เมื่อต่อมลูกหมากโตขึ้นจึงโตเข้ามาเบียดรูท่อปัสสาวะให้เล็กลง  คนไข้จึงมาด้วยปัญหาปัสสาวะลำบาก เหมือนท่อน้ำตีบแคบ น้ำจึงไหลได้ไม่ดี ต้องใช้แรงดันมากขึ้น 

โดยอาการที่พบได้บ่อย ได้แก่

  • ปัสสาวะไหลอ่อน ไหลช้า ไม่พุ่ง
  • ปัสสาวะออกยาก ต้องรอหรือใช้แรงเบ่งถึงจะออก
  • ปัสสาวะติดขัด ไหลๆ หยุดๆ 

หากเป็นมากจนเริ่มกระทบต่อการทำงานของกระเพาะปัสสาวะ คือ กล้ามเนื้อล้า ก็จะทำให้บีบไล่น้ำปัสสาวะได้น้อย และมีเหลือค้างในกระเพาะปัสสาวะมาก คนไข้จึงมาด้วยอาการ เช่น

  • ปัสสาวะบ่อยครั้ง เช่น ทุก 2 ชั่วโมง 
  • ต้องตื่นลุกมาปัสสาวะตอนกลางคืน คืนละหลายครั้ง
  • รู้สึกปวดปัสสาวะอย่างรุนแรงและทันทีทันใด ทำให้ต้องรีบวิ่งเข้าห้องน้ำ
  • กลั้นปัสสาวะไม่อยู่

วิธีการวินิจฉัยโรคต่อมลูกหมากโต

การวินิจฉัยโรคต่อมลูกหมากโตอาศัยการซักประวัติอาการและตรวจร่างกายเป็นหลัก ดังนั้น หากคนไข้สามารถสังเกตและบันทึกไดอารี่ของอาการปัสสาวะให้ชัดเจน ก็จะเป็นประโยชน์อย่างมาก 

ในส่วนของการตรวจร่างกายมักจะประกอบไปด้วย 

  • การตรวจต่อมลูกหมากทางทวารหนัก (digital rectal exam) ซึ่งแพทย์จะใช้นิ้วตรวจเข้าไปทางทวารหนัก เพื่อเช็คขนาดและรูปร่างของต่อมลูกหมาก
  • อัลตร้าซาวด์ เพื่อตรวจขนาดและลักษณะเนื้อเยื่อต่อมลูกหมากให้ชัดเจนมากขึ้น

ในส่วนของการส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อวินิจฉัยแยกโรค เช่น

  • Prostate-specific antigen (PSA) เพื่อแยกโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก หากผลออกมาต้องสงสัยอาจต้องเก็บชิ้นเนื้อส่งตรวจเพิ่มเติม
  • ส่งตรวจเลือด เพื่อประเมินสุขภาพโดยรวม
  • ส่งตรวจปัสสาวะ เพื่อประเมินการติดเชื้อ และโรคร่วมอื่นในระบบทางเดินปัสสาวะ
  • อาจมีการเจาะตรวจน้ำตาลปลายนิ้ว เพื่อแยกโรคเบาหวาน

นอกจากนั้นยังอาจมีการตรวจเพิ่มเติมเพื่อประเมินความรุนแรงของโรคต่อมลูกหมากโต และนำไปใช้ในการประเมินผลการรักษาได้อย่างชัดเจน เช่น

  • ตรวจการไหลของปัสสาวะ (Urine flow test)
  • ตรวจปริมาตรปัสสาวะคงค้าง (Postvoid residual volume)
  • ส่องกล้องทางเดินปัสสาวะ (cystoscope)

การรักษาต่อมลูกหมากโต สามารถรักษาได้หลายวิธี ดังนี้

แม้ต่อมลูกหมากโตจะไม่ใช่มะเร็ง ไม่ใช่เนื้อร้าย แต่การปล่อยไว้ให้โรคดำเนินต่อไปเรื่อย ๆ ให้ตัวต่อมลูกหมากโตมากขึ้น ๆ ย่อมไม่ใช่เรื่องดี เพราะยิ่งขนาดต่อมโตขึ้น การกดเบียดท่อปัสสาวะก็ยิ่งมากขึ้น ท่อปัสสาวะยิ่งตีบแคบลง ปัญหาปัสสาวะยากยิ่งแย่ลง กระเพาะปัสสาวะก็ต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อดันน้ำให้ออก จนกระเพาะปัสสาวะเริ่มจะไม่ไหว กลายเป็นปัญหาที่กระเพาะปัสสาวะตามมา เช่น กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ หรือมีน้ำคงค้างในกระเพาะปัสสาวะมากขึ้น เกิดนิ่วในนั้น หรืออาจแย่ลงจนนำไปสู่การติดเชื้อในในทางเดินปัสสาวะ หรือลามถึงไตได้ จากปัญหาต่อมลูกหมากโตที่แก้ได้ไม่ยาก แต่กลับปล่อยไว้ จนกลายเป็นปัญหาใหญ่ของอาการแทรกซ้อนที่ตามมานั่นเอง

รักษาต่อมลูกหมากโตมีหลายวิธี

การรักษาต่อมลูกหมากโตมีหลายวิธี แต่ละวิธีมีความแตกต่างกัน และต่างก็มีข้อจำกัดของเทคนิคนั้น ๆ การเลือกวิธีการรักษาจึงขึ้นกับหลายปัจจัย โดยหลักคือ ขนาดของต่อมลูกหมาก สุขภาพโดยรวมของคนไข้ และความสามารถของแพทย์เฉพาะทางผู้ทำการรักษา การเข้ามาพูดคุยและปรึกษากับศัลยแพทย์ทางเดินปัสสาวะจึงเป็นเรื่องสำคัญในทุกกรณี

รักษาต่อมลูกหมากโตด้วยไอน้ำ Rezum

เทคนิคนี้เป็นการใช้ไอน้ำร้อนอุณหภูมิสูง ฉีดเข้าไปในเนื้อต่อมลูกหมากเฉพาะจุดอย่างแม่นยำ เพื่อให้เนื้อต่อมลูกหมากที่โตมากดเบียดท่อปัสสาวะ เกิดการตายและฝ่อลงไปตามกระบวนการหายของเนื้อเยื่อของร่างกายตามธรรมชาติ

รักษาต่อมลูกหมากโตด้วยเทคนิค Urolift

เทคนิคนี้เป็นการใช้อุปกรณ์ใส่เข้าไปอย่างถาวรเพื่อยกต่อมลูกหมากขึ้นออกจากรูท่อปัสสาวะ ทำให้ไม่มากดเบียดท่อปัสสาวะ จึงคล้ายการร้อยไหม

รักษาต่อมลูกหมากโตด้วยเทคนิค iTind

เทคนิคนี้เป็นการใส่อุปกรณ์เข้าไปเช่นกัน แต่เป็นแบบชั่วคราว โดยตัวอุปกรณ์พิเศษจะเข้าไปปรับรูปร่างต่อมลูกหมากที่ยังไม่โตมาก ทำให้เกิดเป็นร่อง และช่วยขยายพื้นที่หน้าตัดของท่อปัสสาวะได้

การรักษาด้วยการผ่าตัด

  • การผ่าตัดด้วยการส่องกล้อง (TURP; Transurethral Resection of the Prostate)  

เป็นการผ่าตัดโดยส่องกล้องเข้าไปทางรูเปิดท่อปัสสาวะ จนถึงระดับของต่อมลูกหมาก แล้วใช้เครื่องมือตัดคว้านส่วนของเนื้อต่อมลูกหมากที่ทำให้ท่อปัสสาวะตีบ การผ่าตัดนี้ผู้ป่วยจะต้องใส่สายสวยปัสสาวะและพักฟื้นในโรงพยาบาล

  • การผ่าตัดด้วยเลเซอร์ (HoLEP; Holmium Laser Enucleation of the Prostate)

เป็นการใช้เลเซอร์เข้าไปตัดเนื้อต่อมลูกหมากส่วนเกินแทนใช้อุปกรณ์ แต่ต้องทำภายใต้การวางยาสลบ (general anesthesia)

  • การผ่าตัดต่อมลูกหมากด้วยเลเซอร์พีวีพี (PVP; Photoselective Vaporization of the Prostate)

เป็นการใช้เลเซอร์ยิงเข้าไปที่เนื้อต่อมลูกหมากส่วนเกิน ให้สลายเป็นก๊าซไปเลย แต่มีข้อจำกัดคือตัดชิ้นเนื้อส่งตรวจไปด้วยเลยไม่ได้

รักษาด้วยการผ่าตัดเปิดหน้าท้อง ในกรณีที่มีขนาดใหญ่ผิดปกติ

ทางเลือกผ่าตัดวิธีสุดท้าย หากต่อมลูกหมากมีขนาดใหญ่มาก ๆ เกินขีดจำกัดของการรักษาด้วยวิธีที่กล่าวมาก่อนหน้านี้ทั้งหมด ศัลยแพทย์ก็จำเป็นต้องรักษาด้วยการผ่าตัดเปิดหน้าท้อง ซึ่งรุกล้ำมาก เกิดแผลใหญ่ และต้องอาศัยการพักฟื้นที่นานขึ้น การปรึกษาแพทย์เฉพาะทางและเข้ารับการรักษาแต่เนิ่น ๆ ที่ขนาดต่อมลูกหมากยังไม่โตมาก จึงเป็นทางเลือกที่ดีกว่า

การป้องกันโรคต่อมลูกหมากโต ควรหลีกเลี่ยงทานอะไร?

ป้องกันโรคต่อมลูกหมากโต ควรหลีกเลี่ยงทานอะไร

ปัจจุบันเรายังไม่พบสาเหตุที่ชัดเจนของโรคต่อมลูกหมากโต จึงยังไม่มีวิธีที่สามารถป้องกันโรคได้ 100% แนวทางป้องกันที่ทำได้ในตอนนี้จึงเป็นการลดความเสี่ยงลงให้ได้มากที่สุด โดยปัจจัยสำคัญที่จะช่วยได้มาก คือ การคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ไม่อ้วน และการเลือกรับประทานอาหาร โดยเลี่ยงอาหารที่จะเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคต่อมลูกหมาก และเปลี่ยนเป็นอาหารที่ช่วยลดความเสี่ยงได้ ดังต่อไปนี้

เลี่ยง (ทานให้น้อย)

  • เนื้อแดง
  • ไขมันสูง น้ำมันพืช และกรดไขมันไม่อิ่มตัว รวมไปถึง eicosapentaenoic acid (EPA) และ docosahexaenoic acid (DHA)
  • ผลิตภัณฑ์นม เช่น เนย ชีส
  • เครื่องดื่มแอลกอฮอล์

เลือก (ทานให้มาก)

  • ผักผลไม้กากใยสูง
  • ผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง เช่น เต้าหู้ นมถั่วเหลืองไม่เติมน้ำตาล เทมเป้ นัตโตะ 

นอกจากนั้น ควรระวังไม่ให้ขาดวิตามินดี

อยากรักษาต่อมลูกหมากโต ปรึกษา Dr.Sanchai ได้ที่นี่

สรุป

ต่อมลูกหมากโตเป็นโรคของผู้ชายที่พบได้บ่อยมาก ยิ่งอายุเยอะ ยิ่งเป็นกันมาก แม้จะไม่ใช่โรคที่ร้ายแรงต่อชีวิต แต่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตอย่างมาก คนไข้ส่วนใหญ่จึงต้องปรับตัวเพื่ออยู่กับโรคให้ได้ดีที่สุด มีหลายปัจจัยที่ช่วยชะลอการเจริญของต่อมลูกหมาก ไม่ว่าจะเป็นการปรับอาหารการกินให้เหมาะสม การดูแลสุขภาพ การลดน้ำหนักตัวที่มากเกิน และในท้ายที่สุด สิ่งที่ดีที่สุดอาจเป็นการปรึกษาศัลยแพทย์เฉพาะทางด้านระบบทางเดินปัสสาวะที่จะเข้าใจคุณและพร้อมเลือกการรักษาที่เหมาะสมที่สุดไปด้วยกัน

คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับวิธีรักษาต่อมลูกหมากโต

ต่อมลูกหมากโตห้ามทานอะไร?

คนไข้ต่อมลูกหมากโตควรเลี่ยง และทานอาหารต่อไปนี้ให้น้อย

  • เนื้อแดง
  • อาหารไขมันสูง
  • ผลิตภัณฑ์นม เช่น ชีส เนย
  • เครื่องดื่มแอลกอฮอล์

ทำอย่างไรให้ต่อมลูกหมากเล็กลง?

ในคนไข้บางราย การปรับพฤติกรรมสุขภาพอาจช่วยลดอาการของโรคต่อมลูกหมากโตลงได้ เช่น

  • ลดน้ำหนักในผู้ที่น้ำหนักเกิน
  • ทานให้พอดีกับความต้องการของร่างกาย เพราะแคลอรี่ที่มากเกินไปเพิ่มความเสี่ยงของต่อมลูกหมากโต
  • ออกกำลังกายเป็นประจำ เพราะช่วยชะลอต่อมลูกหมากโตได้
  • ควบคุมคอเลสเตอรอลและระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ

เลือกทานผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลืองให้บ่อยขึ้น เช่น เต้าหู้และนมถั่วเหลือง เพราะมีสาร isoflavones ซึ่งอาจช่วยลดการโตของต่อมลูกหมากจากฤทธิ์ของฮอร์โมนเพศ

 

ลูกหมากโตหายเองได้ไหม?

ในรายที่ต่อมลูกหมากโตไม่มาก อาการยังไม่เยอะ การปรับพฤติกรรมสุขภาพข้างต้นอาจช่วยได้ แต่จะเป็นแค่ชะลอไม่ให้ต่อมลูกหมากโตมากขึ้น ไม่ใช่การลดขนาดต่อมลง ส่วนในรายที่ต่อมลูกหมากโตและทำให้เกิดอาการมากแล้ว จำเป็นต้องได้รับการรักษา เพราะหากปล่อยไว้จะทำให้เป็นมากขึ้น อาการแย่ลง เกิดปัญหากลั้นปัสสาวะไม่อยู่ และที่ยิ่งไปกว่านั้น อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงที่รุนแรง คือ การติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ และโรคไตตามมาได้