ผู้ชายกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ อันตรายไหม? มีอาการและวิธีการรักษาอย่างไร?
เด็ก ๆ ฉี่ราด อาจฟังดูเป็นเรื่องปกติ โดยเฉพาะเด็กเล็ก เด็กอนุบาล ที่ยังอยู่ในช่วงวัยฝึกควบคุมการขับถ่ายตามพัฒนาการ แต่เรื่องปัญหาการอั้นปัสสาวะ ไม่ว่าจะปัสสาวะเล็ด ปัสสาวะราด กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ พอมาเกิดอีกครั้งในวัยผู้ใหญ่ หรือวัยเกษียณ โดยเฉพาะกับผู้ชาย มันก็ยากจะยอมรับ ทำให้รู้สึกอับอาย และกระทบจิตใจของเจ้าตัวไม่มากก็น้อย ในบทความนี้เราจะมาทำความเข้าใจถึงสาเหตุปัญหา และหนทางรักษาแก้ไข เรื่องที่เหมือนจะไม่ใหญ่ต่อสุขภาพกาย แต่กระทบความมั่นใจเอามาก ๆ อย่างเรื่อง การกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ในผู้ชาย
ภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ผู้ชาย คืออะไร?
กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ (urinary incontinence) คือ การมีปัสสาวะเล็ดออกมานอกร่างกายโดยไม่ได้ตั้งใจ เป็นปัญหาของการควบคุมการขับปัสสาวะได้ไม่ดี
โดยในชื่อภาษาอังกฤษ คำแรก urinary แปลว่า เกี่ยวกับปัสสาวะ ส่วนคำหลังมาจาก continence (การควบคุมการขับถ่าย) แล้วใส่ in- ซึ่งเป็นคำนำหน้าแสดงความปฏิเสธ เมื่อรวมกันเป็น urinary incontinence จึงหมายถึง ควบคุมการขับปัสสาวะไม่ได้ หรือก็คือ กลั้นปัสสาวะไม่อยู่นั่นเอง
ภาวะนี้พบได้บ่อยในหญิงมากกว่าชาย โดยเฉพาะในหญิงสูงอายุ เพราะสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานหย่อนและอ่อนแอ (รายละเอียดในหัวข้อด้านล่าง) แต่ปัญหากลั้นปัสสาวะไม่อยู่ก็เกิดขึ้นได้กับผู้ชายเช่นกัน โดยเฉพาะในช่วงวัย 70-80 ปี โดยเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ บางสาเหตุก็คล้ายกับที่พบในผู้หญิง (เช่น กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน) แต่บางสาเหตุก็จำเพาะในผู้ชาย (เช่น ต่อมลูกหมากโต) ซึ่งสาเหตุที่ต่างกันก็ต้องอาศัยวิธีการรักษาที่แตกต่าง
การทำงานของอวัยวะในการขับถ่ายปัสสาวะ
ก่อนจะไปที่สาเหตุของภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ เราต้องทำความเข้าใจลักษณะพื้นฐานของทางเดินปัสสาวะช่วงล่างก่อน โดยมีส่วนประกอบเริ่มจาก
- กระเพาะปัสสาวะ: เป็นที่เก็บน้ำปัสสาวะ และบีบตัวดันน้ำปัสสาวะออกเมื่อเราขับถ่าย
- ท่อปัสสาวะ: ทางผ่านให้น้ำปัสสาวะออกไปจากร่างกาย มีหูรูดคอยเปิดปิด ซึ่งจะทำงานสอดคล้องกับกระเพาะปัสสาวะ
- ต่อมลูกหมาก: อยู่ล้อมท่อปัสสาวะช่วงต่อออกมาจากกระเพาะปัสสาวะ
- กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน เป็นเหมือนผนังกล้ามเนื้อด่านสุดท้ายของฐานอุ้งเชิงกรานที่ท่อปัสสาวะต้องผ่านก่อนออกจากช่องท้องส่วนล่าง
เมื่อมีน้ำปัสสาวะสะสมในกระเพาะปัสสาวะมากพอ (ประมาณ 150 มล.) เราจะเริ่มรู้สึกปวดฉี่ จนกระทั่งเราเข้าห้องน้ำ พร้อมที่จะขับถ่ายปัสสาวะ กระเพาะปัสสาวะก็จะบีบตัว หูรูดเปิดออก น้ำปัสสาวะจึงไหลออกจากร่างกาย
สาเหตุของอาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ในผู้ชาย

ภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ในผู้ชายมีสาเหตุหลัก ๆ จัดแบ่งตามจุดที่เป็นปัญหา ได้แก่
- ปัญหาที่กระเพาะปัสสาวะ เช่น
- กระเพาะปัสสาวะไวเกิน (oversensitive bladder)
- น้ำปัสสาวะเต็มกระเพาะปัสสาวะจนล้นเกินไหลออกเอง (overflow incontinence)
- ปัญหาที่หูรูดท่อปัสสาวะ เช่น
- หูรูดท่อปัสสาวะปิดไม่สนิท (urethral incompetence)
- กล้ามเนื้อหูรูดคลายตัวขณะหลับ
- ปัญหาที่กล้ามเนื้อที่ช่วยกลั้นปัสสาวะ เช่น
- กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานหย่อนยาน
- ปัญหาที่ทางไหลออกของน้ำปัสสาวะ เช่น
- ต่อมลูกหมากโตเบียดท่อปัสสาวะจนตีบแคบ
- ปัญหาที่เส้นประสาทควบคุมการปัสสาวะ
- อาจเกิดจากภาวะแทรกซ้อนจากการรักษาอื่นในบริเวณนั้น เช่น การผ่าตัดต่อมลูกหมาก การเลือกรักษากับศัลยแพทย์ระบบทางเดินปัสสาวะที่ชำนาญในเทคนิคที่ใช้ จึงมีความสำคัญและไม่อาจมองข้าม
กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ในผู้ชาย มีวิธีแก้อย่างไร?
วิธีแก้ปัญหากลั้นปัสสาวะไม่อยู่ที่สามารถเริ่มต้นทำได้ด้วยตนเองง่าย ๆ เป็นวิธีที่ทำได้ทั้งในผู้ชายและผู้หญิง คือ การฝึกขมิบเกร็งกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน โดยเริ่มจากแบบที่ง่ายที่สุด คือ ขมิบค้างไว้ 5 วินาที แล้วคลาย 5 วินาที สลับกันไปมา อย่างไรก็ตาม ปัญหากลั้นปัสสาวะไม่อยู่เกิดได้จากหลายสาเหตุข้างต้น ดังนั้น การปรึกษาแพทย์เฉพาะทางด้านระบบทางเดินปัสสาวะ เพื่อตรวจหาสาเหตุที่แท้จริง และรักษาแก้ไขให้ตรงจุดจึงจะเป็นการดีที่สุด
บริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน
กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน คือ กลุ่มกล้ามเนื้อที่อยู่ที่พื้นของเชิงกรานระหว่างขาสองข้าง เปรียบเหมือนเป็นเปลญวนที่เริ่มจากหัวหน่าวด้านหน้าไปจนถึงกระดูกก้นกบที่ด้านหลัง ทำหน้าที่เป็นฐานรองรับและคอยพยุงอวัยวะภายในอุ้งเชิงกรานให้ไม่หล่นลงมาตามแรงโน้มถ่วง หรือผลุบออกมาเมื่อแรงดันในช่องท้องเพิ่มขึ้นกะทันหัน (เช่น ไอจาม)
กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานมาเกี่ยวข้องกับปัญหากลั้นปัสสาวะไม่อยู่ เพราะมันช่วยพยุงกระเพาะปัสสาวะ และเมื่อกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานหดเกร็งก็ช่วยบีบท่อปัสสาวะ จึงมีส่วนช่วยในการกลั้นปัสสาวะด้วยเช่นกัน กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานสามารถเสริมสร้างให้แข็งแรงขึ้นได้เช่นเดียวกับกล้ามเนื้อส่วนอื่น เราเพียงแค่ต้องรู้ท่าบริหารของส่วนนี้ โดยวิธีออกกำลังกายที่เป็นที่ยอมรับทางการแพทย์ คือ การทำ Kegal exercise โดยมีทั้งการขมิบถี่ ๆ สลับกับขมิบให้แรงที่สุดค้างไว้นาน 5-10 วินาที
กลุ่มผู้ที่มีปัสสาวะเล็ดเวลาไอจามหรือยกของหนัก (stress incontinence) จะเป็นกลุ่มที่บริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานแล้วเห็นผลช่วยได้มาก
ใช้ยา
ปัญหากลั้นปัสสาวะไม่อยู่ มียาหลายตัวที่ช่วยบรรเทาได้ โดยขึ้นกับสาเหตุ เช่น หากเกิดจากกระเพาะปัสสาวะไวเกิน ก็เลือกใช้ยาที่ช่วยลดการบีบตัวของกระเพาะปัสสาวะ หากเกิดจากปริมาณปัสสาวะมากเกินไป ก็อาจใช้ยาลดการสร้างน้ำปัสสาวะ เป็นต้น อย่างไรก็ตามยาเหล่านี้ต้องใช้ภายใต้การควบคุมของแพทย์เท่านั้น เพื่อให้เกิดความปลอดภัยจากผลข้างเคียงของยา
ผ่าตัด
การผ่าตัดนับเป็นทางเลือกท้าย ๆ เมื่อรักษาด้วยวิธีอื่นแล้วไม่ได้ผล โดยหลักจะเป็นการผ่าตัดเพื่อแก้ไขที่สาเหตุของปัญหากลั้นปัสสาวะไม่อยู่ เช่น หากเกิดจากต่อมลูกหมากโต ก็ผ่าตัดเพื่อลดขนาดต่อมลูกหมาก และเปิดขยายรูท่อปัสสาวะ ซึ่งการผ่าตัดในที่นี้รวมไปถึงเทคนิคการผ่าตัดแบบรุกล้ำน้อย หรือ minimally invasive technique เช่น Rezum และ Urolift ด้วย
รู้ทันและรับมืออาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ในผู้ชาย

การแก้ไขรักษาก็ด้านหนึ่ง แต่อีกด้านหนึ่งที่ต้องพิจารณาเช่นกัน คือ แล้วเราจะรู้ทันและจัดการรับมือกับปัญหาการกลั้นปัสสาวะอย่างไร จุดสำคัญคือการปรับตัว หาวิธีการที่จะช่วยให้เราอยู่ร่วมกับปัญหาได้ โดยมีเป้าหมายเพื่อจำกัดให้เกิดความเสียหายให้น้อยที่สุด
- ไม่กลั้นปัสสาวะนาน ๆ
- ดื่มน้ำให้เพียงพอ ไม่มากเกินไป
- ไม่ดื่มน้ำมากช่วงค่ำและก่อนนอน
- เลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- ปรับการเข้าห้องน้ำให้เป็นเวลา ให้เหมาะสมกับร่างกาย ไม่รอให้ปวดปัสสาวะก่อน เช่น ทุกครั้งก่อนมื้ออาหาร หรือทุกสามชั่วโมง เป็นต้น
- ลดน้ำหนักในผู้ที่มีน้ำหนักตัวเกินเกณฑ์
- ติดไฟกลางคืนที่ทางเดินไปห้องน้ำ เพื่อป้องกันอุบัติเหตุ
- พกทิชชูเปียกและเสื้อผ้าสำรองติดตัวไว้เสมอ เผื่อเกิดเหตุการณ์กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ขึ้น
- ไม่โทษตนเอง แต่ให้มองไปข้างหน้าว่าจะปรับปรุงวิธีการรับมือให้ดีขึ้นได้อย่างไร
- ปรึกษาคนใกล้ชิด เพื่อช่วยกันหาวิธีรับมือที่ดีที่สุด
สุดท้ายนี้ แน่นอนว่าการปรับตัวเป็นเรื่องดีและควรทำเป็นอย่างยิ่ง แต่ย่อมมีขีดจำกัด ถ้าไม่แก้ที่ต้นเหตุ ปัญหาย่อมไม่หายไป การปรึกษาแพทย์เฉพาะทางด้านทางเดินปัสสาวะจึงจะเป็นการดีที่สุด
ผลกระทบจากการละเลยอาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ในผู้ชาย
การกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ มักทำให้เกิดความอับอาย เสียเซลฟ์เกินกว่าจะบอกใคร จึงทำให้คนไข้ส่วนใหญ่ไม่กล้าไปพบแพทย์ โดยเฉพาะกับคนไข้ผู้ชายที่ปัญหานี้ทำให้รู้สึกกระทบต่อศักด์ศรีความเป็นชายของตน จึงมักจะปล่อยไว้ ไม่กล้าเผชิญหน้ากับปัญหา หรืออาจพยายามแก้ปัญหาเพียงลำพัง แต่หากปล่อยไว้นาน อาจทำให้เกิดผลเสียตามมาในหลายมิติ และยิ่งทำให้ปัญหาลุกลามแย่ลง
ผลต่อสังคมและความสัมพันธ์
น้ำปัสสาวะเป็นของเสียที่ถูกขับออกมาจากร่างกาย มีสีและกลิ่นไม่พึงประสงค์ที่จำเพาะ เป็นของสกปรกจึงเป็นที่รังเกียจของคนทั่วไปในสังคม ยิ่งไปกว่านั้น สังคมมักยอมรับเหตุการณ์ที่เด็กเล็กฉี่ราดเปื้อนเสื้อผ้าได้มากกว่าผู้ใหญ่ที่ประสบปัญหากลั้นปัสสาวะไม่อยู่ อาจเพราะสังคมรับรู้อยู่แล้วว่าเด็กเล็กยังมีพัฒนาการควบคุมการขับถ่ายไม่ดี แต่ผู้ใหญ่ผ่านจุดนั้นมาแล้ว และถูกคาดหวังว่าจะทำได้เป็นเรื่องปกติ การกลั้นปัสสาวะไม่อยู่จึงถูกมองเป็นประเด็นที่มากกว่าแค่โรคในระบบทางเดินปัสสาวะ แต่เป็นความผิดแผกไปจากความคาดหวังและบรรทัดฐานของสังคม ก่อตัวเป็นปัญหาความสัมพันธ์และการอยู่ร่วมกันกับผู้อื่นในสังคมอีกด้วย ในจุดนี้จึงทำให้ผู้ที่มีปัญหาถูกตีตราและทุกข์ใจยิ่งกว่าโรคทางกายทั่วไปมาก
ผลต่อจิตใจ
การควบคุมการขับถ่ายได้ถือเป็นหมุดหมายที่สำคัญในพัฒนาการของสมองและจิตใจในวัยเด็ก ความสำเร็จที่เป็นพื้นฐานนี้ช่วยสร้างความมั่นคงในจิตใจ แสดงถึงความสามารถในการควบคุมร่างกายตนเอง และต่อยอดไปสู่พัฒนาการในด้านอื่นของชีวิตต่อไป การสูญเสียการควบคุมการขับถ่ายในวัยผู้ใหญ่ อย่างเช่น การกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ แม้จะเกิดเพียงครั้งคราว แต่ก็สร้างผลกระทบในทางลบต่อจิตใจเจ้าตัวเป็นอย่างมาก ทำให้ขาดความมั่นใจ บั่นทอนคุณค่าในตนเอง ทำให้ไม่กล้าเข้าสังคม โดดเดี่ยวตนเองมากขึ้น จนอาจนำไปสู่ปัญหาโรคทางอารมณ์ตามมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคซึมเศร้าซึ่งมีความเสี่ยงมากขึ้นอยู่แล้วในผู้สูงอายุ
ผลต่อสุขภาพ
การกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ โดยตัวมันเองไม่ใช่ปัญหาที่ร้ายแรงต่อสุขภาพกาย แต่ก็ส่งผลเสีย และอาจทำให้ปัญหาเล็กกลายเป็นปัญหาใหญ่ตามมาได้ เช่น
- ผิวหนังระคายเคืองจากความอับชื้น และเกิดการติดเชื้อตามมา
- ควบคุมการดื่มน้ำมากไป จนไม่เพียงพอต่อร่างกาย เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคไต, โรคนิ่ว, และการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ
- ออกกำลังกายน้อยลง เช่น ไม่ไปวิ่ง เพราะกังวลเรื่องห้องน้ำ หรือกลัวปัสสาวะเล็ด
- อุบัติเหตุลื่นล้มจากการรีบร้อนวิ่งเข้าห้องน้ำให้ทัน
ความเสี่ยงโรคแทรกซ้อน
โรคแทรกซ้อนจากภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ โดยหลักมักเกิดจากสาเหตุเบื้องหลังที่ทำให้ปัสสาวะไหลออกจากกระเพาะปัสสาวะผ่านท่อปัสสาวะได้ไม่ดี (Bladder outlet obstruction; BOO) ทำให้น้ำปัสสาวะค้างในกระเพาะปัสสาวะมาก และมีปัสสาวะไหลย้อนกลับ จนทำให้เกิดหลายโรคตามมา ได้แก่
- โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ
- นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ
- ปัสสาวะไหลย้อนขึ้นท่อไต (Vesicoureteral reflux; VUR)
- กรวยไตอักเสบ
- ไตบวมน้ำ (hydronephrosis)
- โรคผิวหนังจากความอับชื้น
ต่อมลูกหมากโต สาเหตุสำคัญของอาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ในผู้ชาย
ปัญหากลั้นปัสสาวะไม่อยู่เกิดได้จากหลายสาเหตุก็จริง แต่หนึ่งในสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุดในผู้ชาย คือ โรคต่อมลูกหมากโต ซึ่งเป็นโรคที่พบได้บ่อยมากในผู้ชายมีอายุ
วิธีป้องกันการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ในผู้ชาย
เราสามารถป้องกันและลดความเสี่ยงต่อภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ได้ โดยการควบคุมปัจจัยเสี่ยง ดังนี้
- ไม่ปล่อยให้ตนเองอ้วนลงพุง
- เลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และคาเฟอีน
- ถ้าเป็นเบาหวาน ก็ต้องควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ดี
- ไม่สูบบุหรี่
- ออกกำลังกาย และเสริมสร้างกล้ามเนื้ออยู่เสมอ
- รักษาสุขภาพจิต ไม่ใช้ชีวิตอย่างเคร่งเครียด
ผู้ชายกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ อาจเป็นอันตราย จึงต้องรีบรักษา!
สรุป
การกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ในผู้ชาย แม้จะพบได้น้อยกว่าในผู้หญิง แต่ก็เกิดขึ้นได้ และมักมีสาเหตุเบื้องหลังมาจากต่อมลูกหมากโต ปัญหากลั้นปัสสาวะไม่อยู่ แม้ไม่ร้ายแรงต่อสุขภาพกาย แต่กลับส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตมากกว่า ทั้งเรื่องของความอับอาย สูญเสียความมั่นใจ สร้างความลำบากในการใช้ชีวิตประจำวัน รวมไปถึงการเข้าสังคม ผู้ที่กำลังประสบกับปัญหาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ จึงไม่ควรปล่อยให้ตนเองแก้ปัญหานี้เพียงลำพัง และควรเข้าปรึกษาแพทย์เฉพาะทางด้านระบบทางเดินปัสสาวะ
คำถามที่พบบ่อย
อาการของโรคหูรูดเสื่อมมีอะไรบ้าง?
- ปัสสาวะซึมออกมาโดยไม่รู้ตัว
- ปัสสาวะเล็ดเวลาไอ จาม หรือยกของหนัก
- ปวดปัสสาวะบ่อย
มีวิธีแก้การอั้นปัสสาวะไม่อยู่อย่างไรบ้าง?
- บริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานให้แข็งแรง
- ดื่มน้ำให้พอดี ไม่มากไม่น้อยเกินไป
- งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- ช่วงค่ำดื่มน้ำให้น้อย และพยายามเข้าปัสสาวะให้บ่อยก่อนเข้านอน
- สังเกตและจดบันทึกรายละเอียด เพื่อให้ทราบอาการและปัจจัยที่ส่งผลต่อปัญหาการกลั้นปัสสาวะอย่างชัดเจน
- พบแพทย์เฉพาะทางระบบทางเดินปัสสาวะ
โรคช้ำรั่วคืออะไร?
โรคช้ำรั่ว (overactive bladder; OAB) เป็นอาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ที่เกิดจากกระเพาะปัสสาวะไวเกิน และบีบตัวสร้างแรงดันมากจนเอาชนะหูรูดท่อปัสสาวะที่ปิดอยู่ได้ ทำให้น้ำปัสสาวะไหลออกมาแม้จะพยายามกลั้นไว้แล้ว สาเหตุมักเกิดจากการกลั้นปัสสาวะนานเป็นนิสัย และโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ
อาการปัสสาวะเล็ดเกิดจากอะไร?
ปัสสาวะเล็ดมักเกิดจากกล้ามเนื้อหูรูดท่อปัสสาวะปิดไม่สนิท เมื่อความดันในช่องท้องเพิ่มขึ้นอย่างกะทันหัน (เช่น เมื่อเราไอหรือจาม) จึงดันให้ปัสสาวะไหลออกมาโดยไม่ได้ตั้งใจ
Contact Information
- 9/1, Convent Road Silom, Bangrak Bangkok 10500, Thailand
- Phone: 063-445-7854
- Email: dr.suntchai@mcentrebybnh.org